วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ขั้นตอนการแก้ปัญหา

ขั้นตอนการแก้ปัญหา โดยนำเสอนรูปแบบแผนผังความคิดและอธิบายรายละเอียด

ขั้นตอนการแก้ปัญหา โดยนำเสนอในรูปแบบแผนผังความคิดและอธิบายรายละเอียด

             ในการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ ก็ตาม บางครั้งเราจะใช้วิธีการลองผิดลองถูกบ้าง
หาเหตุผลหรือเงื่อนไขเข้ามาประกอบโดยการแยกข้อมูลที่อาจเป็นไปได้แล้วตัดกรณีที่เป็นไปไม่ได้ทิ้ง
ในบางครั้งอาจจะขจัดให้เหลือกรณีเดียวไม่ได้ แต่ก็ต้องทำให้เหลือกรณีที่เป็นไปได้น้อยที่สุด
เพื่อเลือกและตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องและตรงประเด็นกับปัญหามากที่สุด กระบวนการแก้ปัญหา
จึงมีองค์ประกอบ 4 ขั้นตอน ดังนี้


1) การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา        ในการที่จะแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำต่างๆ ในปัญหา แล้วแยกปัญหาให้ออกว่าอะไรเป็นสิ่งที่ต้องหา แล้วมีอะไรเป็นข้อมูลที่กำหนด และมีเงื่อนไขใดบ้าง หลังจากนั้นจึงพิจารณาว่าข้อมูลและเงื่อนไขที่กำหนดให้นั้นเพียงพอที่จะหาคำตอบของปัญหาได้หรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอ ให้หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนี้
 1.1 การระบุข้อมูลเข้า ได้แก่ การพิจารณาข้อมูลและเงื่อนไขที่กำหนดแก้ปัญหา
 1.2 การระบุข้อมูลออก ได้แก่ การพิจารณาเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องหาคำตอบหรือผลลัพธ์
1.3 การกำหนดวิธีประเมินผล ได้แก่ การพิจารณา วิธีหาคำตอบ หรือผลลัพธ์


2) การวางแผนในการแก้ปัญหา       จากการทำความเข้าใจกับปัญหาจะช่วยให้เกิดการคาดคะเนว่าจะใช้วิธีการใดในการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ประสบการณ์เดิมของผู้แก้ปัญหาจะมีส่วนช่วยอย่างมาก ฉะนั้นในการเริ่มต้นจึงควรจะเริ่มด้วยการถามตนเองว่า เคยแก้ปัญหาในทำนองเดียวกันนี้มาก่อนหรือไม่ในกรณีที่มีประสบการณ์มาก่อนควรจะใช้ประสบการณ์เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา สิ่งที่จะช่วยให้เราเลือกใช้ประสบการณ์เดิมได้ดีขึ้นคือ การมองดูสิ่งที่ต้องการหา และพยายามเลือกปัญหาเดิมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เมื่อเลือกได้แล้วก็เท่ากับมีแนวทางว่าจะใช้ความรู้ใดในการหาคำตอบหรือแก้ปัญหา โดยพิจารณาว่าวิธีการแก้ปัญหาเดิมนั้นมีความเหมาะสมกับปัญหาหรือไม่ หรือต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ได้วิธีการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ในกรณีที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาทำนองเดียวกันมาก่อน ควรเริ่มจากการมองดูสิ่งที่ต้องการหา แล้วพยายามหาวิธีการเพื่อให้ได้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ต้องการหากับข้อมูลที่มีอยู่ เมื่อได้ความสัมพันธ์แล้วต้องพิจารณาว่าความสัมพันธ์นั้นสามารถหาคำตอบได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็แสดงว่าต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมหรืออาจจะต้องหาความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นต่อไป เมื่อได้แนวทางในการแก้ปัญหาแล้วจึงวางแผนในการแก้ปัญหาเป็นขั้นตอน


 3) การดำเนินการแก้ปัญหาตามแนวทางที่วางไว้    เมื่อได้วางแผนแล้วก็ดำเนินการแก้ปัญหา ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหาอาจทำให้เห็นแนวทางที่ดีกว่าวิธีที่คิดไว้ ก็สามารถนำมาปรับเปลี่ยนได้


 4) การตรวจสอบ     เมื่อได้วิธีการแก้ปัญหาแล้วจำเป็นต้องตรวจสอบว่า วิธีการแก้ปัญหาได้ผลลัพธ์ถูกต้องหรือไม่